มิติปัจจุบัน
บทบาทหนึ่ง……สู่อีกบทบาทหนึ่ง
จากเรื่องราวของยุคสมัยหนึ่งที่จบตอนไป สู่เรื่องราวตอนใหม่ของยุคปัจจุบัน ศาลาเฉลิมกรุงในฐานะโรงมหรสพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ดุจเดียวกับเวทีที่ไม่อาจร้างการแสดงเป็นโรงมหรสพที่ไม่อาจร้างผู้ชม เมื่อความนิยมของผู้คนผันแปรไปอย่างไม่อาจฝืนกระแส ก็ย่อมถึงเวลาแห่งการปรับจุดยืนเปลี่ยนบทบาทการวางตัวใหม่ของศาลาเฉลิมกรุงเช่นกัน
โดยความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และษริษัทสหศีนิมาผู้ดูแลกิจการโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงอยู่เดิมได้ให้ความร่วมมือสำหรับการเข้ามาของบริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศน์ในการปรับปรุงศาลาเฉลิมกรุงให้เป็นโรงมหรสพเพื่อการแสดงระดับสากล อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ
เป็นการรื้อฟื้นอดีตอันเคยรุ่งเรืองให้กลับคืนมาในบทบาทใหม่….อีกครา นับเป็นเวลา 60 ปีที่ศาลาเฉลิมกรุงได้รับรองให้ความบันเทิง สนุกสนานแก่ผู้คนในบทบาทหรือสถานะของโรงภาพยนตร์ และเวทีการแสดงมหรสพ จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2535 วันสุดท้ายที่จะยุติการแสดงไว้ชั่วคราวเพื่อทำการปรับปรุงครั้งใหญ่และเพื่อดำเนินกิจการแสดงอันเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและนาฏศิลป์ของไทยคือการแสดงโขนในลักษณะประยุกต์ใหม่ที่เรียกว่า “โขนจินตนฤมิต” และการแสดงละครเวที ซึ่งนับเป็นการอนุรักษ์และช่วยส่งเสริมศิลปะบันเทิงในด้านนี้ให้มีพัฒนาการที่แพร่หลายสู่ระดับสากลประเทศและสามารถสืบทอดถึงคนรุ่นต่อไป

ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการบูรณะปรับปรุงส่วนโครงสร้างและสถาปัตยกรรมภายใน โดยยึดแนวทางที่จะอนุรักษ์งานโครงสร้างเดิมไว้เป็นหลักการต่อเติมและปรับแต่งจะทำเฉพาะในส่วนที่จำเป็นเพื่อความสอดคล้องและเอื้ออำนวยต่อการแสดงในลักษณะที่ตัวเวทีเป็นหลักในการชม ซึ่งต่างจากภาพยนตร์ที่เป็นการชมภาพจากจอฉายภาพยนตร์ ส่วนการตกแต่ง แม้จะมีการเพิ่มเติมความเป็นไปของยุคสมัยปัจจุบันและเสริมความหรูหราให้สมกับการเป็นโรงมหรสพ ที่เชิดหน้าชูตาของประเทศบ้างแต่ก็ยังคงแนวทางศิลป์ในแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ไว้ตลอด กระทั่งบรรยากาศโดยรอบที่จะมีการโยงใย รูปแบบวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยเปิดศาลาเฉลิมกรุงแรกๆ มาประกอบไว้ให้ได้ชมกัน และด้วยใจที่มุ่งมั่นอดทนไว้ย่อท้อต่ออุปสรรคนานัปการ ในการดำเนินการปรับปรุงโรงมหรสพที่มีอายุยืนยาวเก่าแก่ถึง 60 ปีนี้ โดยไม่มีแบบพิมพ์โครงสร้างหลักของอาคารให้ดูเพื่อเป็นการชี้นำอย่างกระจ่างชัด การคลำหาลู่ทางในการออกแบบและดำเนินการปรับปรุงซึ่งเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็น ในแนวทางที่ต้องการอนุรักษ์โครงสร้างของเดิมไว้โดยพยายามไม่กระทบกระเทือนรูปแบบเก่าให้เสียหาย และในวงเงินงบประมาณที่จำกัดมิได้เกินแรงความสามารถสำหรับดำเนินการ กลายเป็นแรงบีบคั้นที่กดดันและท้าทายดวงใจหาญสู้ของผู้ที่ก้าวเข้ามา ไม่มีการถอยพลัง…สำหรับความสำเร็จและยิ่งกว่ากำลังเงิน คือ กำลังใจที่มาจากความตั้งใจจริง คงไม่มีใครกล่าวได้ถึงกำลังใจอันเป็นแรงผลักดันให้การดำเนินการทั้งหลายลุล่วงดุจเดียวกับมานิต รัตนสุวรรณ
เมื่อการแสดงที่จะนำเสนอเพื่อเปิดบทบาทใหม่ศาลาเฉลิมกรุงเป็นการแสดงซึ่งเน้นการชมที่เวทีมิใช่การชมภาพยนตร์บนจอฉายเช่นเคย จึงต้องมีการปรับระดับที่นั่งจองผู้ชมใหม่ให้สามารถชมการแสดงได้ทั่วเวทีโดยไม่เกิดการเหลื่อมบังสายตากันและลดจำนวนที่นั่งจากเดิมกว่าพันที่นั่งลงเหลือหกร้อยกว่าที่นั่งเพื่อให้เกิดความสบายในการชมมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการนำส่วนของบัลโคนี่ที่เคยมีอยู่เดิมในสมัยแรกมาปรับใช้ให้เหมาะสมอีกครั้ง
ส่วนเวทีมีการขยายเพิ่มขึ้นอีก 6 เมตรเพื่อรองรับการแสดงในลักษณะที่ต้องใช้พื้นที่เช่นการแสดงโขน ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับฉากและพื้นที่สำหรับการแสดงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการทำเวทีให้เป็นระบบที่ยกได้ด้วยไฮโดรลิกเพื่อยกผู้แสดงหรือฉากบางฉากขึ้นมา ภายในห้องโถงใหญ่สำหรับชมการแสดง มีการปรับปรุงฝ้าเพดานและฝาผนังทั้งด้านใหม่ เนื่องจากของเดิมอยู่ในสภาพที่ผุพังแล้ว แต่การปรับปรุงก็ยังคงยึดแนวที่จะรักษารูปแบบเดิมไว้นอกจากพื้นที่บางส่วน เช่น บริเวณผนังส่วนที่ใกล้กับเวทีและด้านบน ซึ่งจำเป็นต้องปรับแต่งเพื่อความเหมาะสมในการวางตำแหน่งส่วนประกอบและอุปกรณ์อำนวยการแสดงต่างๆ
ในส่วนของการออกแบบตกแต่ง ก็ยังคงยึดแนวทางเดิมที่มีการผสานงานสถาปัตยกรรมตะวันตกกับศิลป์ไทยไว้ด้วยกัน โดยคงตัวงานศิลป์ไทยที่มีอยู่แต่แรกไว้ทุกชิ้น แล้วเสริมความเป็นยุคสมัยปัจจุบันกับความหรูหราเพื่อสร้างจุดเด่นในการเป็นสถานบันเทิงระดับสากลเพิ่มขึ้นด้วยงานออกแบบตกแต่งและการเลือกใช้โทนสีม่วง สีแดงและสีทอง คือโทนสีที่เลือกใช้เป็นหลัก เพื่อเน้นความรู้สึกของบรรยากาศความเป็นโรงมหรสพหลวงในแง่นามธรรม สีแดงและสีทองคือความรู้สึกหรูหราของโรงละครระดับสากลส่วนสีม่วงให้ความรู้สึกสง่าขรึมและสูงส่งในแบบของไทย นอกจากนี้ยังมีการนำสีแดงชาดซึ่งเป็นสีแดงในลักษณะไทยมาใช้สำหรับฝ้าเพดานอีกด้วย นอกจากนี้ในเรื่องของระบบไฟแสงสีและเสียง ได้มีการนำระบบและอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เนื่องจากระบบเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความรู้สึกร่วมของการแสดงโขนจินตรฤมิตนั่นเอง
จากภายในห้องโถงใหญ่ที่ได้รับการปรับปรุงตกแต่งให้งดงามหรูหราขึ้น สู่ภายนอกห้องโถงด้านหน้า ซึ่งเป็นที่รับรองผู้มาเยือนเป็นด่านแรก การตกแต่งภายในยังคงรูปแบบเดิมไว้เช่นกัน เพียงแต่ดัดแปลงบริเวณโถงด้านหน้าให้เป็นห้องที่มีการปรับอากาศ เพื่ออำนวยความสบายในขณะรอชมการแสดงของผู้มาชมเพิ่มขึ้น
2 กรกฎาคม 2536
60 ปีให้หลัง...เมื่อบทบาทเดิมของการเป็นโรงภาพยนตร์อันเก่าแก่ได้ผ่านพ้นโรงมหรสพศาลาเฉลิมกรุงเปิดตัวขึ้นอีกครั้งภายหลังการหยุดปรับปรุงตกแต่งอาคารใหม่และเตรียมพร้อมสำหรับการแสดง ด้วยบทบาทในการเป็น ‘เฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์’ เมื่อเวทีของโรงมหรสพ แห่งนี้พร้อมแล้วไฟแสงสีเสียงพร้อมแล้ว ม่านพร้อมเปิดขึ้นอีกครา
การแสดงอันเป็นนาฏลีลาศิลปะไทยในมิติใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว “โขนจินตนฤมิต” คือชื่อที่ใช้เรียก การแสดงซึ่งเฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์จัดเสนอแก่ผู้ชมในครั้งนี้ โดยนัยความหมายอันนิยามถึงคำ ‘จินตนฤมิต’ ว่าคือการนำจินตนาการมาสร้างให้สมจริงสมจัง เพราะนาฏลีลาโขนเป็นการแสดงศิลปะที่ต้องใช้จินตนาการของผู้ชมเป็นตัวสร้างเสริมอยู่แล้ว เพื่อทำให้จินตนาการนั้นมีความสมจริงสมจังขึ้น จึงช่วยให้การชมโขนได้อรรถรสเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
การแสดงโขนจินตนฤมิตนั้นเป็นการนำลีลาโขนมาแสดงในอีกลักษณ์หนึ่ง ซึ่งมีวิธีการปรับวิธีนำเสนอให้เข้ากับวิธีแนวคิดของคนยุคนี้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านเทคนิคพิเศษ มีการนำเทคโนโลยีทางด้านแสงสีเสียงมาช่วยเสริมประกอบเป็นการแสดงโขนในลักษณะร่วมสมัยแต่คงเอกลักษณ์การแสดงและท่าร่ายรำในแบบแผนของนาฏลีลาโขนอันแท้จริงไว้
จากแนวคิดของผู้ดูแลกิจการโรงมหรศพเฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์ในยุคปัจจุบันคือบริษัท เฉมิลกรุงมณีทัศน์ ที่ริเริ่มมาจากความรักในศิลปะการแสดงโขนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับความต้องการอนุรักษ์การแสดงนี้ไว้ให้คงมีการสืบสานสืบทอดต่อไป เมื่อ “โขน” นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เคยรุ่งเรืองถึงระดับที่ว่าเป็นมหรสพหลวงแล้วมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่า300ปี กำลังถึงกาลซบเซาด้วยขาดความสนใจจากผู้ชม เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปทำให้ความคิดและความรู้สึกของคนที่มีต่อการเสพงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของไยค่อยกลับกลายไป
ความปราณีความอ่อนช้อย งดงามละเอียดลออ ในลักษณะแบบแผนของงานนาฏศิลป์ไทยมักจะถูกมองจากคนรุ่นใหม่ๆว่าเป็นสิ่งที่เยิ่นเน้อ เชย น่าเบื่อหน่ายและไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้เพียงพอ จึงมีแนวโน้มอันเป็นไปได้ที่ “โขน” จะถูกการแสดงสมัยใหม่ค่อยเบียดกลืนจนหายจากความสนใจของผู้คนไปในที่สุด คงจะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเพราะเมื่อมองย้อนกลับไปในวันเวลาแห่งอดีต การแสดงโขนได้หยั่งรากลึกลงในวิถีชีวิตและจิตใจของคนไทยมาเนิ่นนาน
จากเค้าโครงเรื่องในมหากาพย์รามายณะอันเลื่องลือที่คนไทยรู้จักกันดี “รามเกียรติ์” เรื่องราวหลังสำหรับการแสดงโขนโดยสืบทอดประวัติความเป็นมาสามารถดำเนินสืบทอดต่อไปถึงคนรุ่นหลังแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริม ฟื้นฟูและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น
เพราะโขนจินตนฤมิตยังคงยึดถือแบบแผนแห่งการแสดงโขนไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งท่ารำ เครื่องทรง การมีบทพากย์ เพียงแต่มีการทำให้โครงสร้างของเรื่องราวมีความกระชัดและรวบรัดขึ้น ส่วนทางด้านเทคนิคพิเศษที่ใช้ประกอบแสดงโขนจินตนฤมิตเพื่อช่วยสร้างจินตนาการให้สมจริงสมจังขึ้นนั้นเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่นำระบบการทำสไลด์มัลติวิชั่นประกอบแสงสีเสียง ซึ่งควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้ นอกจากละครเวทีแล้วทางเฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์ยังได้จัดให้มีการแสดงอื่นๆมาเสริมด้วยตลอดเช่น การแสดงคอนเสิร์ต “อันปลั๊ก” ของสองหนุ่มนักดนตรีเพื่อชีวิต เล็ก คาราบาว และพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์,การแสดงอุปรากรจีน เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536, นิทรรศการ ร.7 เมื่อวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2536, การแสดงคอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2536, การแสดงคอนเสิร์ต “ดีด สี ตี เข่า” โดยกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2537
และทางเฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์ยังมีการเอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และศิลปการแสดงต่างๆอีกด้วย เช่น งานประกาศผลการประกวดตุ๊กตาทอง ประจำปี 2536 โดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง, งานสัปดาห์ส่งเสริมภาพยนตร์ไทย 4 มุมเมือง ของสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 1-10 เมษายน 2537 และจัดฉายภาพยนตร์การกุศลเรื่องอำแดงเหมือนกับนายริด ละครเวทีเรื่องแรด ของนายคณะละครสองแปด ภาพยนตร์เรื่องกาเหว่าที่บางเพลง เป็นต้น